อร่อยเกินห้ามจน “พราหมณ์ขายเมีย”
มะม่วงหนึ่งนวลเหลืองเรืองรัศมี รูปกลมรีรสดีไม่มีเหมือน
ชื่อว่า “พราหมณ์ขายเมีย” ไม่แชเชือน อร่อยจนเลอะเลือนขายภรรยา
มะม่วงพันธุ์ “พราหมณ์ขายเมีย” เป็นมะม่วงไทยโบราณที่นิยมปลูกมาอย่างยาวนานเฉพาะถิ่นแถบ อำเภอบางกรวยและอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และย่านตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร ต่อมา เกิดการแลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้จากหลากหลายพื้นที่โดยเฉพาะเขตกรุงเทพ ตลิ่งชัน และอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมจนแพร่หลายมายังพื้นที่คลองมหาสวัสดิ์
ผลของมะม่วงพันธุ์ “พราหมณ์ขายเมีย” มีลักษณะกลม รี เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองนวล ส่งกลิ่นหวานหอม เนื้อในสีเหลืองอมส้ม ไม่เละ ไม่มีเสี้ยนและเมล็ดเล็กบาง เมื่อผลดิบสีเขียวจะมีรสชาติเปรี้ยวปนหวานและมัน ฝานจิ้มพริกเกลือป่นหรือน้ำปลาหวาน อร่อยไม่แพ้มะม่วงกินดิบทั่วไป
ในอดีตนิยมนำผลสุกของ มะม่วงพันธุ์ “พรามณ์ขายเมีย” มาล้างน้ำให้สะอาดแล้วใช้มีดเฉือนเป็นแก้ม 2 แก้ม ไม่ต้องปอกเปลือกแล้วใช้ช้อนตักเนื้อกินกับข้าวสวยร้อน ๆ หรือข้าวเหนียวนึ่งสุกใหม่ ๆ มีรสชาติหวานหอม อร่อยชื่นใจและได้คุณค่าทางโภชนาการอย่างมาก
ความเป็นมาของชื่อเกิดจากความอร่อยที่ทำให้พราหมณ์ต้องยอมขายภรรยาของตนเองเพื่อนำเงินไปซื้อผลสุกมารับประทาน กล่าวกันว่า ความอร่อยเป็นที่ร่ำลืออย่างมาก พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จึงรีบไปทดลองชิมจนติดใจและแต่งเป็นบทกลอน เห็นจากหนังสือพรรณพฤกษาโดย มีการบรรยายไว้ด้วยกาพย์ยานี 11 เมื่อปี พ.ศ.2427 ว่า
มะม่วงพราหมณ์ขายเมียนี้ ดูท่วงทีรสขยัน
เมียรักดังชีวัน ยังสู้ขายจ่ายอำพา
(พรรณพฤกษา น.86)
แหล่งที่มา : “มะม่วงพราหมณ์ขายเมีย” หวานหอมอร่อย. (2557). สืบค้น 26 ตุลาคม 2563, จาก https://www.thairath.co.th/content/450599
น้อย อาจารยางกูร. (2471). พรรณพฤกษา กับ สัตวาภิธาน. พระนคร: โสภณพิพรรฒนากร.