น้อยหน่า”
ใบหรือเมล็ดน้อยหน่ามีฤทธิ์กำจัดเห็บ เหา หรือศัตรูพืชได้ โดยเมื่อบดใบหรือเมล็ดน้อยหน่าผสมกับน้ำมันมะพร้าว จะสามารถกำจัดเหา เห็บและหมัด หรือนำมาดองกับเหล้าเพื่อใช้กำจัดแมลงได้ เนื่องจากใบและเมล็ดน้อยหน่ามีสารที่สามารถกำจัดแมลงและเห็บ หมัด โดยสำนักข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อนำสารสกัดที่ได้จากเมล็ดน้อยหน่าผสมกับน้ำมันมะพร้าว ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 จะสามารถกำจัดเหาได้ถึงร้อยละ 98 และสามารถนำใบน้อยหน่าบดเป็นผง เพื่อกำจัดศัตรูพืช เช่น ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของไรขาวในพริก เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน และ ไข่แมลงวันผลไม้ เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้น้อยหน่ารักษาเหา ดังนี้
- นำใบน้อยหน่า 3-4 ใบ ตำให้ละเอียดคลุกกับเหล้าขาวหรือเหล้าโรง คั้นเอาแต่น้ำมาทาให้ทั่วศีรษะ แล้วใช้ผ้าคลุมไว้ 10 นาที แล้วใช้หวีสางออก
- บดเมล็ดน้อยหน่ากับน้ำมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:2 กรองเอาน้ำไปทาให้ทั่วศีรษะ ใช้ผ้าโพกไว้ 1-2 ชั่วโมง
ข้อควรระวัง ควรระวังไม่ให้น้ำยาเข้าตา เพราะจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้
แหล่งที่มา : น้อยหน่า, (ม.ป.ป), สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/annona.html
“ฝรั่ง”
ฝรั่งเป็นพันธุ์ไม้สารพัดประโยชน์ จากการสอบถามภูมิปัญญาชาวบ้านในพื้นที่คลองมหาสวัสดิ์ กล่าวกันว่า ฝรั่งมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องเสีย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งให้ข้อมูลว่า สารสกัดจากใบฝรั่งและผลฝรั่งมีสรรพคุณในการรักษาอาการท้องเสียได้ กระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ฝรั่งรักษาอาการท้องเสีย ดังนี้
- นำใบฝรั่งประมาณ 10 – 15 ใบ มาล้างให้สะอาด แล้วโขลกพอแหลก ใส่น้ำ 1 แก้วใหญ่ นำไปต้มใส่เกลือพอมีรสกร่อย พอเดือดให้ยกลงนำมาดื่มแทนชา
- นำผลฝรั่งอ่อน ๆ มาฝานเอาแต่เปลือกกับเนื้อเท่านั้น ใส่เกลือเล็กน้อยแล้วกินรวมกัน หรือนำไปต้มเป็นน้ำฝรั่งก็ได้
- นำใบฝรั่งสดที่ไม่อ่อนและไม่แก่เกินไปมาตัดหัวตัดท้ายทิ้ง แล้วนำไปแช่น้ำไว้สักครู่ ตักน้ำที่ได้จากการแช่มาจิบทีละนิด ไม่ควรจิบมากหรือบ่อยเกินไปเพราะจะทำให้ท้องผูก
แหล่งที่มา : ธัญญธร อินทร์ท่าฉาง และคณะ, (2557), สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://repository.rmutp.ac.th/bitstream/handle/123456789/2382/ARCH_61_12.pdf?sequence=1&isAllowed=y )
“มะม่วงและกล้วย”
มะม่วงและกล้วยเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่หาได้ง่ายและเป็นที่นิยมรับประทาน จากการสอบถามเกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้านในพื้นที่คลองมหาสวัสดิ์ ได้ข้อมูลว่าผลไม้ทั้งสองชนิดมีสรรพคุณในการใช้เป็นยาระบายแก้อาการท้องผูก และช่วยขับลม สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์เบาหวานศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ว่า มะม่วงทั้งแบบดิบและแบบสุก กล้วยน้ำว้า และกล้วยหอม เป็นผลไม้ที่มีใยอาหารสูง ซึ่งใยอาหารดังกล่าวมีส่วนช่วยกระตุ้นการขับถ่าย นอกจากนี้ยังช่วยดูดซับสารก่อมะเร็งที่ปนมากับอาหารแล้วขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระ และช่วยลดการดูดซึมไขมันและคอเรสเตอรอลอีกด้วย
แหล่งที่มา : ศรีวรรณ ทองแพง, (ม.ป.ป.), สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/sdc/admin/knowledges_files/6_44_1.pdf
“ส้มโอ”
ส้มโอเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง อยู่ในวงศ์เดียวกับเกรปฟรุต มะกรูด มะนาว และส้ม ข้อมูลจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลไม้ดังกล่าวอุดมไปด้วยวิตามินซี มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และชะล้างสารพิษได้ นอกจากนี้กลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่สดชื่นของผลไม้สกุลส้มรวมถึงเกรปฟรุต ทำให้ผู้ใช้รู้สึกผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี จากการสอบถามภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับสรรพคุณของส้มโอ กล่าวว่า เปลือกของส้มโอสามารถนํามาตากแห้ง โดยมีสรรพคุณในการใช้ไล่ยุงแทนยากันยุงที่มีสารเคมีได้
แหล่งที่มา : นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์, (2558), สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/261/อันตรกิริยาระหว่างส้มโอกับยา(ตอนที่1)/
“ขนุน”
เมล็ดขนุนต้มสุกมีคาร์โบไฮเดรตสูง และสามารถช่วยขับน้ำนมหลังคลอด อีกทั้งผลขนุนยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ สามารถแก้อาการท้องอืด ท้องเสียได้
แหล่งที่มา : ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ. (2545). พืชผักผลไม้ไทยมีคุณค่าเป็นทั้งอาหารและยา ตอน “ขนุนและขจร”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก http://natres.psu.ac.th/radio/radio_article/radio45-46/45-460013.htm)